วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

DO METER เครื่องวัดออกซิเจนในน้ำ


 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved oxygen, DO) ออกซิเจนเป็นปัจจัยที่นับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากสัตว์น้ำทุกชนิดจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในขบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อการเจริญเติบโต กุ้งทะเลมีความต้องการออกซิเจนที่ละลายในน้ำตั้งแต่ 5 มิลลิกรัมออกซิเจนต่อลิตร ขึ้นไป ถือว่าเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง การเปลี่ยนแปลงปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำในรอบวัน ปริมาณออกซิเจนที่ละลายมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ 8:00 นาฬิกา ไปจนถึง 15:00 นาฬิกา ซึ่งเป็นค่าสูงสุด และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เวลา 18:00 นาฬิกา ไปเรื่อย ๆ จนถึง 6:00 นาฬิกา ซึ่งจะเป็นค่าต่ำสุด ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิของน้ำ 25 องศาเซลเซียส จะมีปริมาณออกซิเจนอิ่มตัวประมาณ 8.24 มิลลิกรัมออกซิเจนต่อลิตร แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียส จะมีปริมาณออกซิเจนอิ่มตัวในน้ำ 7.54 มิลลิกรัมออกซิเจนต่อลิตร ส่วนในน้ำทะเลที่ความเค็ม 30 ppt และอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะมีปริมาณออกซิเจนละลายอิ่มตัวในน้ำประมาณ 6.39 มิลลิกรัมออกซิเจนต่อลิตร ถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นหรือค่าความเค็มเพิ่มขึ้น ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำจะมีค่าลดลง ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีผลต่อการดำรงชีวิตของกุ้งมาก ถ้าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำมีค่าต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมออกซิเจนต่อลิตร กุ้งจะมีการเจริญเติบโตช้า กุ้งทะเลจะมีการเจริญเติบโตดีถ้ามีปริมาณออกซิเจนละลายสูงกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมารออกซิเจนละลายในน้ำ ได้แก่ แสงแดด การไหลเวียนของน้ำ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ พืชน้ำ ความโปร่งแสง ความลึกของบ่อ ชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ สิ่งขับถ่ายของกุ้ง รวมทั้งปริมาณอาหารที่เหลือจากการกินของกุ้ง

ปัญหาการขาดออกซิเจนในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเลจะพบในบ่อเลี้ยงกุ้งที่ปล่อยกุ้งไปในปริมาณมากหรือมีกุ้งติดมากแต่มีเครื่องให้อากาศไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้าย ในบ่อที่มีกุ้งหนาแน่นเมื่อมีการให้อาหารในปริมาณที่มากในแต่ละวัน เศษอาหารที่เหลือและของเสียที่กุ้งขับถ่ายออกมามากนั้นจะมีการดึงออกซิเจนไปใช้ในการย่อยสลายสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งการหายใจของแพลงก์ตอนที่มีหนาแน่นและการหายใจของกุ้งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในบ่อจะมีผลทำให้ออกซิเจนในตอนเช้าลดต่ำลงมากถ้ามีกุ้งในปริมาณมากและเครื่องให้อากาศไม่เพียงพอ กุ้งอาจจะลอยตามผิวน้ำตั้งแต่ตอนกลางคืนหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้ามืด เมื่อออกซิเจนที่ละลายในน้ำอยู่ในช่วง 1.7-2.0 ppm ปริมาณออกซิเจนที่สูงกว่าระดับนี้กุ้งจะไม่ลอย แต่พบว่าถ้าออกซิเจนต่ำกว่า 3.0 ppm กุ้งจะไม่แข็งแรง การกินอาหารจะลดต่ำลงกว่าปกติ ในช่วงที่กุ้งกำลังลอกคราบ ถ้าระดับออกซิเจนต่ำกุ้งอาจจะลอกคราบแล้วตายได้ ดังนั้นควรจะวัดค่าออกซิเจนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำอย่างน้อยวันละครั้งในช่วงเช้า หรือวันละหลายๆ ครั้ง สำหรับบ่อที่มีการเลี้ยงกุ้งอย่างหนาแน่นเพื่อเป็นข้อมูล ในการเลี้ยง และเป็นแนวทางในการเลี้ยงกุ้งในรุ่นต่อๆไปการวัดค่าออกซิเจนควรจะวัดในบริเวณที่ลึกที่สุดของบ่อ หรือก้นบ่อ เนื่องจากกุ้งทะเลจะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่บริเวณพื้นบ่อ


   ข้อดีของการใช้เครื่องมือ คือประหยัดเวลา และประหยัดค่าไฟฟ้า                                             



1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเคื่องมือที่มีความสำคัญในการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด

    ตอบลบ