วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

การใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด



การใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด

ในการเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น มีการเตรียมบ่อที่ดี มีการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน ใช้ลูกกุ้งสายพันธุ์ที่ดีและปลอดจากโรค ใช้อาหารที่ดีมีคุณภาพสูง รวมทั้งมีการจัดการคุณภาพน้ำในระหว่างการเลี้ยงที่ดี ซึ่งคุณภาพน้ำที่ดีจะทำให้กุ้งไม่เครียด มีสุขภาพดี แข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคสูงขึ้น รวมทั้งทำให้กุ้งมีการเจริญเติบโตที่ดีและมีอัตรารอดสูง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนสูง ทำให้อุณหภูมิของน้ำในบ่อและความเข้มของแสงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะไปรบกวนความสมดุลของระบบนิเวศในบ่อเลี้ยง ทำให้เกษตรกรจัดการด้านการเลี้ยงได้ยากขึ้น เช่น การให้อาหาร การควบคุมสีน้ำ รวมทั้งการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องหมั่นตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องรักษาค่าคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ซึ่งหากค่าคุณภาพน้ำตัวใดไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขในทันที ซึ่งค่าคุณภาพน้ำที่สำคัญและมีผลต่อการเลี้ยงกุ้งได้แก่ 
พีเอช เป็นค่าที่บอกถึงความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งค่าพีเอชที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงกุ้งควรมีค่าอยู่ในช่วง 7.3-8.5 และค่าที่แตกต่างกันในรอบวันนั้นไม่ควรเกิน 0.5 ถ้าค่าพีเอชต่ำอาจจะมีการเติมวัสดุปูนเพื่อเพิ่มค่าพีเอช ลดความหนาแน่นของแพลงก์ตอนหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำ มีการดูดตะกอนเลนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการสะสมของสารอินทรีย์ หากพีเอชของน้ำมีค่าสูงจะต้องมีการเติมกากน้ำตาลโดยลงติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน รวมทั้งถ้าสีน้ำเข้มจะต้องลดความหนาแน่นของแพลงก์ตอนโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เป็นต้น 
ออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, D.O.) นับว่าเป็นปัจจัยทางคุณภาพน้ำที่สำคัญที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวกุ้งและระบบนิเวศในบ่อเลี้ยง โดยกุ้งจะต้องใช้ออกซิเจนในกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย เพื่อให้ได้พลังงานออกมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของการดำรงชีวิต เช่น การลอกคราบ การเจริญเติบโต และการขับถ่ายของเสีย เป็นต้น นอกจากนี้จุลินทรีย์ยังจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ในบ่อ โดยค่าที่เหมาะสมและเพียงพอต่อกุ้งคือจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 พีพีเอ็มในตอนเช้า ซึ่งหากปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในบ่อไม่เพียงพอนั้น สามารถแก้ไขได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น อย่าให้อาหารเหลือมากจนเกินไป มีการดูดตะกอนเลน มีการเติมหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำหากน้ำในบ่อเลี้ยงมีสีเข้มจนเกินไป รวมทั้งมีการเพิ่มและบริหารเครื่องให้อากาศอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเมื่อกุ้งที่เลี้ยงมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการเลี้ยงอย่างหนาแน่น เป็นต้น 
อัลคาไลนิตี้ ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์คือควบคุมพีเอชของน้ำไม่ให้แกว่งในแต่ละรอบวัน เป็นแหล่งสำรองของคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช โดยค่าอัลคาไลนิตี้ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกุ้งคือ ไม่ควรต่ำกว่า 100 พีพีเอ็ม ซึ่งหากอัลคาไลนิตี้ในน้ำมีค่าต่ำก็สามารถแก้ไขได้โดยการเติมวัสดุปูน เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นต้น 
แอมโมเนีย เกิดขึ้นเนื่องจากการขับถ่ายของกุ้ง และจากกระบวนการย่อยสลายสารประกอบไนโตรเจนโดยจุลินทรีย์ ซึ่งถ้ามีการสะสมของแอมโมเนียในน้ำมากจนเกินไปจะทำให้กุ้งขับถ่ายแอมโมเนียออกจากตัวได้น้อยลง ทำให้เกิดการสะสมอยู่ในเลือดและเนื้อเยื่อ ทำให้ค่าพีเอชของเลือดสูงขึ้นซึ่งมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ แอมโมเนียจะไปทำลายเหงือกและทำให้การขนส่งออกซิเจนได้ลดลง ทำให้กุ้งอ่อนแอ ติดโรคต่างๆ ได้ง่ายและทำให้กุ้งตายในที่สุด ซึ่งค่าที่เหมาะสมของปริมาณแอมโมเนียในน้ำโดยทั่วไปกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 1 พีพีเอ็มในรูปของแอมโมเนียรวม (Total ammonia nitrogen, TAN) ถ้าแอมโมเนียในบ่อเลี้ยงมีการสะสมมากจนเกินไป สามารถจัดการแก้ไขได้หลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น อย่าให้อาหารเหลือมากจนเกินไป มีการดูดตะกอนเลนอย่างสม่ำเสมอ เติมหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อลดความหนาแน่นของแพลงก์ตอนลง หรือกุ้งที่เลี้ยงหนาแน่นมากเกินไปจะต้องจับกุ้งออกขายบางส่วนเพื่อลดความหนาแน่นลง เป็นต้น 
ไนไตรท์ เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการไนตริฟิเคชั่น (Nitrification) โดยแบคทีเรียเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นไนไตรท์ และขบวนการดีไนตริฟิเคชั่น (Denitrification) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียเปลี่ยนไนเตรทให้กลับมาเป็นไนไตรท์ ผลของไนไตรท์จะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ของกุ้งลดลง ทำให้กุ้งขาดออกซิเจน อ่อนแอและตายในที่สุด โดยทั่วไปค่าไนไตรท์ที่เหมาะสมกำหนดไว้กว้างๆ ว่าไม่ควรเกิน 1 พีพีเอ็ม แต่อย่างไรก็ตาม ระดับความเป็นพิษของไนไตรท์จะถูกยับยั้งโดยคลอไรด์ในน้ำ ดังนั้นการเลี้ยงกุ้งที่ความเค็มสูงซึ่งก็จะมีปริมาณคลอไรด์ในน้ำสูงด้วย ส่งผลทำให้ความเป็นพิษของไนไตรท์ต่อกุ้งลดน้อยลง ในขณะที่การเลี้ยงกุ้งที่ความเค็มต่ำจะมีปริมาณคลอไรด์ในน้ำอยู่น้อย ทำให้ความเป็นพิษของไนไตรท์ต่อกุ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งวิธีการจัดการเมื่อปริมาณไนไตรท์ในบ่อเลี้ยงสูงนั้นสามารถแก้ไขได้ตามวิธีการลดปริมาณแอมโมเนีย 
แร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และโปแตสเซียม เป็นต้น กุ้งต้องใช้แร่ธาตุเหล่านี้ในกระบวนการต่างๆ เช่น การสร้างเปลือก ควบคุมระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นองค์ประกอบในการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ และทำหน้าที่ในรักษาสมดุลเกลือแร่ต่างๆ ระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งในพื้นที่การเลี้ยงกุ้งความเค็มต่ำเกษตรกรอาจจะประสบปัญหาแร่ธาตุในน้ำที่ไม่เพียงพอได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้กุ้งมีการเจริญเติบโตและอัตรารอดที่ต่ำ อ่อนแอและติดโรคต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งค่าที่เหมาะสมของแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำที่ความเค็มน้อยกว่า 15 พีพีที คือ แคลเซียม 250 พีพีเอ็ม แมกนีเซียม 400 พีพีเอ็ม และโปแตสเซียม 150 พีพีเอ็ม แต่ถ้าในน้ำที่เลี้ยงมีความเค็มมากกว่า 15 พีพีที ปริมาณแร่ธาตุที่เหมาะสมคือ แคลเซียม 300 พีพีเอ็ม แมกนีเซียม 600 พีพีเอ็ม และโปแตสเซียม 200 พีพีเอ็ม ซึ่งเกษตรกรสามารถเพิ่มแคลเซียมในน้ำได้โดยใช้ปูนแคลเซียมซัลเฟต (ปูนยิปซั่ม) หรือแคลเซียมคลอไรด์ เพิ่มแมกนีเซียมในน้ำได้โดยใช้แมกนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ) หรือแมกนีเซียมคลอไรด์ และเพิ่มโปแตสเซียมในน้ำได้โดยใช้โปแตสเซียมคลอไรด์ 

ในปัจจุบันการตรวจติดตามคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงทำได้โดยการใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายที่เรียกว่า เทสท์ คิท (Test Kit) โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้พัฒนาชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำที่มีคุณภาพสูงและครอบคลุมค่าคุณภาพน้ำที่จำเป็นต่อการเลี้ยงกุ้งทั้งหมด ประกอบด้วย ชุดตรวจวัดพีเอช (pH Test Kit) ชุดตรวจวัดอัลคาไลนิตี้ (AQUA BASE) ชุดตรวจวัดออกซิเจนละลายน้ำ (AQUA D.O.) ชุดตรวจวัดแอมโมเนีย (AQUA AM) ชุดตรวจวัดไนไตรท์ (AQUA NITE) ชุดตรวจวัดความกระด้าง (AQUA MAG) ชุดตรวจวัดแคลเซียมและแมกนีเซียม (AQUA CALMAG) ชุดตรวจวัดโปแตสเซียม (AQUA POTASSIUM) และชุดตรวจวัดคลอรีนตกค้างในน้ำ (Chlorine Test Kit) อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิธีการใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำนี้จะทำได้ง่าย โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถตรวจได้เองที่บ่อเลี้ยง แต่ผู้ใช้จะต้องทราบถึงขั้นตอน และข้อควรระวังในการใช้ เพื่อทำให้การตรวจวัดค่าทางคุณภาพน้ำทำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องด้วย โดยชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายสามารถแบ่งออกอย่างกว้างๆ ตามหลักการวิเคราะห์ได้ 2 แบบ คือชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการไตเตรท และชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการเทียบสี ซึ่งหลักการและข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำในแต่ละแบบสามารถสรุปได้ดังนี้
ชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการไตเตรท (Titrimetric Method)

ชุดตรวจวัดนี้จะอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อหยดสารเคมีลงไปในน้ำตัวอย่างแล้ว สารเคมีจะไปทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการตรวจวัด โดยถ้าในน้ำตัวอย่างมีความเข้มข้นของสารที่ต้องการตรวจวัดอยู่มาก ก็จะต้องใช้จำนวนหยดหรือปริมาตรของสารเคมีที่จะไปทำปฏิกิริยามากขึ้นตามไปด้วย โดยจำนวนหยดหรือปริมาตรของสารเคมีที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับสารที่ต้องการตรวจวัดในน้ำจะเรียกว่า จุดยุติ (End Point) โดยจะดูได้จากการเปลี่ยนสีของอินดิเคเตอร์ เมื่อนำจำนวนหยดหรือปริมาตรของสารเคมีไปคำนวณค่าก็จะสามารถทราบความเข้มข้นของสารที่ต้องการตรวจวัดในตัวอย่างน้ำได้ ชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการนี้ ได้แก่ ชุดตรวจวัดอัลคาไลนิตี้ ชุดตรวจวัดความกระด้าง ชุดตรวจวัดออกซิเจนละลายน้ำ ชุดตรวจวัดแคลเซียมและแมกนีเซียม และชุดตรวจวัดโปแตสเซียม ซึ่งเทคนิคและข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจวัดนี้ มีดังนี้ 
การเติมน้ำตัวอย่างลงไปในหลอดทดสอบต้องให้ถึงขีดปริมาตรที่ต้องการโดยดูที่ขีดล่างของใต้ท้องน้ำ หรือถ้าใช้ไซริงค์ดูดน้ำตัวอย่างลงในหลอดทดสอบจะต้องไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้นในไซริงค์ เพราะจะทำให้ปริมาตรของน้ำตัวอย่างผิดพลาดไป 
ในการหยดน้ำยาเคมีลงไปในน้ำตัวอย่าง เพื่อให้ทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการตรวจวัดนั้น ขวดหยดสารจะต้องตั้งให้ตรงอยู่ในแนวดิ่ง และหยดน้ำยาจะต้องไม่มีฟองอากาศเนื่องจากจะทำให้ได้ปริมาตรน้ำยาต่อหยดน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้ต้องใช้จำนวนหยดของน้ำยาในการทำปฏิกิริยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าการตรวจวัดที่ได้มากกว่าความเป็นจริงได้ 
ในการให้สารเคมีทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการตรวจวัดในน้ำตัวอย่างนั้น จะต้องค่อยๆ หยดน้ำยาเคมีลงไปในน้ำตัวอย่างทีละหยดพร้อมทั้งเขย่าน้ำตัวอย่าง เพื่อให้สารเคมีทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการตรวจวัดในน้ำตัวอย่างได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งถึงจุดยุติซึ่งจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนสีของอินดิเคเตอร์ อย่าหยดน้ำยาเคมีลงในน้ำตัวอย่างทีละหลายๆ หยดแล้วเขย่า เพราะจะทำให้อาจเลยจุดยุติได้ นอกจากนี้อย่าหยดน้ำยาเร็วจนเกินไป เพราะจะทำให้ได้ขนาดหยดที่เล็กกว่าปกติและบางครั้งอาจจะนับจำนวนหยดของน้ำยาได้ไม่ทัน ทำให้การตรวจวัดผิดพลาดไปได้ 
ชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการเทียบสี (Colorimetric Method)

ชุดตรวจวัดนี้จะอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อเติมสารเคมีลงไปในน้ำตัวอย่างแล้ว สารเคมีจะไปทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการตรวจวัดที่มีอยู่ในน้ำตัวอย่าง ทำให้น้ำตัวอย่างมีสีเกิดขึ้น ซึ่งสีที่เกิดขึ้นจะเข้มขึ้นตามปริมาณสารที่ต้องการตรวจวัดที่มีในน้ำตัวอย่าง เมื่อนำสีที่เกิดขึ้นไปวางเทียบกับแผ่นเทียบสีแล้วอ่านค่า ก็จะทำให้ทราบค่าความเข้มข้นของสารที่มีอยู่ในตัวอย่างน้ำ ชุดตรวจวัดที่ใช้หลักการนี้ ได้แก่ ชุดตรวจวัดแอมโมเนีย ชุดตรวจวัดไนไตรท์ ชุดตรวจวัดคลอรีนตกค้างในน้ำ รวมถึงชุดตรวจวัดค่าพีเอชด้วย ซึ่งเทคนิคและข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจวัดนี้ มีดังนี้ 
การเติมน้ำตัวอย่างลงไปในหลอดทดสอบต้องให้ถึงขีดปริมาตรที่ต้องการ โดยดูที่ขีดล่างของใต้ท้องน้ำ หรือถ้าใช้ไซริงค์ดูดน้ำตัวอย่างลงในหลอดทดสอบจะต้องไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้นในไซริงค์ เพราะจะทำให้ปริมาตรของน้ำตัวอย่างผิดพลาดไป 
หลังจากการหยดน้ำยาเคมีต่างๆ ลงไปน้ำตัวอย่างและตั้งทิ้งไว้เพื่อให้เกิดสีแล้ว จะต้องอ่านค่าของสีที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด อย่าอ่านก่อนเวลาเพราะจะทำให้ได้ค่าน้อยกว่าความเป็นจริง หรืออย่าอ่านหลังจากเลยเวลาที่กำหนดไปแล้ว เพราะสีที่เกิดขึ้นจะเข้มขึ้นตามเวลาทำให้ค่าที่อ่านได้ผิดพลาดไปจากค่าจริง 
การอ่านค่าเทียบกับแผ่นเทียบสีจะต้องมองสีของน้ำตัวอย่างที่เกิดขึ้นตามวิธีการใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก เช่น มองสีที่เกิดขึ้นโดยดูจากด้านบนของหลอดทดสอบ 
เมื่อสารที่ต้องการตรวจวัด เช่น แอมโมเนีย หรือไนไตรท์ในน้ำตัวอย่างมีความเข้มข้นมากเกินกว่าที่จะตรวจวัดได้ จะพบว่าหลังจากหยดน้ำยาเคมีลงไปในน้ำตัวอย่างแล้ว สีที่เกิดขึ้นจะเข้มมากจนอ่านได้ค่าที่มากสุดของค่าบนแผ่นเทียบสี หรือบางครั้งจะพบว่าสีที่เกิดขึ้นช่วงแรกจะเข้มมาก แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้สีจะค่อยๆ จางลง ถ้าผู้ตรวจไม่สังเกตให้ดีก็จะอ่านค่าได้เป็นศูนย์ซึ่งหมายถึงไม่พบสารที่ตรวจวัด ทั้งที่ความจริงแล้วมีสารอยู่ในน้ำตัวอย่างในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นถ้าหากเกิดกรณีดังกล่าวนี้ ผู้ตรวจวัดจะต้องทำการเจือจางน้ำตัวอย่าง โดยการนำน้ำตัวอย่างมาผสมกับน้ำกลั่นหรือน้ำดื่มที่สะอาด แล้วนำมาหยดน้ำยาเคมีแล้วจึงนำไปอ่านค่าเทียบกับแผ่นเทียบสี โดยการเจือจางจะต้องเริ่มจากจำนวนเท่าน้อยๆ ก่อน เช่น 2 เท่า ถ้าอ่านค่าไม่ได้จึงค่อยเพิ่มเป็น 5 เท่า หรือ 10 เท่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถอ่านค่าได้ โดยค่าที่ดีที่สุดหลังการเจือจางควรเป็นค่าที่อยู่กลางๆ ของแผ่นเทียบสีเมื่ออ่านค่าจากแผ่นเทียบสีแล้วจะต้องคูณจำนวนเท่าของการเจือจางด้วยจึงจะได้ค่าที่แท้จริงของสารที่ต้องการตรวจวัดในน้ำตัวอย่าง 
สำหรับวิธีการเก็บรักษาชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างถูกต้องนั้นก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ โดยควรเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดดและควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลังจากการใช้งานควรปิดฝาขวดชุดตรวจวัดให้เรียบร้อยและเก็บไว้ในกล่องชุดตรวจวัด นอกจากนี้ชุดตรวจวัดที่หมดอายุไม่ควรนำมาใช้เพราะว่าสารเคมีอาจจะเสื่อมคุณภาพไปแล้ว เมื่อนำมาตรวจวัดคุณภาพน้ำจะทำให้ผลตรวจวัดที่ได้ไม่ถูกต้อง 
ในการจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องมีการตรวจติดตามและแก้ไขคุณภาพน้ำเป็นประจำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงแนวทางต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้การจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นร่วมด้วย โดยควรปล่อยกุ้งลงเลี้ยงในความหนาแน่นที่เหมาะสมกับฤดูกาลและสภาพความพร้อมของแต่ละฟาร์ม ซึ่งการเลี้ยงกุ้งในความหนาแน่นที่เหมาะสม จะทำให้การจัดการเพื่อรักษาคุณภาพน้ำในบ่อให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมตลอดเวลาทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการใช้จุลินทรีย์ตามโปรแกรมโปรไบโอติกของซีพีเอฟ ซึ่งได้ออกแบบให้สอดคล้องกับระบบนิเวศภายในบ่อเลี้ยงกุ้งในแต่ละช่วงเวลาของการเลี้ยง โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในบ่อเลี้ยงทั้งในน้ำและพื้นบ่อ ช่วยลดปัญหาน้ำหนืดจากสารอินทรีย์สะสมและแพลงก์ตอน บลูม ช่วยควบคุมพีเอชในน้ำไม่ให้แกว่ง ดังนั้นการใช้โปรแกรมโปรไบโอติกจะทำให้การจัดการสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : ข่าวกุ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น