วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

แร่ธาตุ กับกุ้งขาว


แร่ธาตุ กับกุ้งขาวไทย โดย ดร.บุญรัตน์ ปทุมชาติ

และ ข้อมูลจากการบรรยายของผู้ทรงความรู้ในงานWAS ซึ่งจัดขึ้นในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และ ล่าสุดจัดที่เท็กซัส ประเทศอเมริกา 
พร้อมที่จะตามติดข้อมูลของแร่ธาตุแล้วหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มเลย
กุ้งทะเลไม่ว่าจะเป็นกุ้งกุลาดำหรือกุ้งขาวแวนนาไม ต่างก็เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับการลอกคราบ และ การปรับสมดุลในตัวเมื่อต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆเพื่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโต ในปัจจุบันเราพบว่าผู้เลี้ยงกุ้งทะเลบางรายมีปัญหากับการเลี้ยงกุ้งในบ่อของตัวเอง ดังนั้นการมองหาปัญหาที่เกิดจึงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นอาจเป็นปัญหาเรื่องของแร่ธาตุที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการและการปรับสมดุลย์แร่ธาตุของกุ้งที่เราปล่อยเลี้ยงก็เป็นได้
ความสำคัญของแร่ธาตุในการเลี้ยงกุ้งทะเล
กุ้งเป็นสัตว์ที่มีเปลือกเป็นโครงสร้างหุ้มร่างกาย กุ้งเจริญเติบโตได้ต้องลอกคราบ
สารอาหารที่กุ้งกินหรือได้รับกุ้งจะนำไปใช้เพื่อ 1.การดำรงชีวิต 2.สร้างเปลือก 3.การเจริญเติบโต และ 4.ใช้พัฒนาในระบบสืบพันธุ์
แร่ธาตุเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในโครงสร้างเปลือก และเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม (soft tissues) รวมทั้ง เป็นองค์ประกอบปัจจัยร่วม( cofactor) และ หรือตัวกระตุ้น(activators) ในเอนไซม์น้ำย่อย หลายชนิดของกุ้ง
แร่ธาตุที่ละลายได้ดี เช่น แคลเซียม(Ca), ฟอสฟอรัส(P), โซเดียม(Na), โปตัสเซียม( K), และ คลอไรด์(Cl) แร่ธาตุเหล่านี้จะทำหน้าที่ในระบบสมดุลเกลือแร่ระหว่างร่างกายสัตว์กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบำรุงรักษาความสมดุลความเป็นกรดด่างของร่างกายและความต่างศักย์ของเนื้อเยื่อของกุ้งเพื่อทำให้สามารถอยู่ได้อย่างปกติ โดยแร่ธาตุที่สำคัญหลายตัว เกษตรกรสามารถเพิ่มลงไปในน้ำที่เลี้ยงกุ้งได้โดยตรง แต่แร่ธาตุอีกหลายตัวก็ควรใส่เพิ่มในอาหารกุ้งอีกทั้งถ้าต้องการให้เหมาะสมจริงๆต้องใส่ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารกุ้งเลยดีที่สุด
หากจะมองให้ลึกลงไปในเรื่องแร่ธาตุ เราก็ต้องมีการตรวจหาค่าแร่ธาตุต่างๆในเลือดของกุ้งทะเลนั้นๆซึ่งเราก็ได้มีการตรวจโดยได้ค่าต่างๆ ดังตาราง(บุญรัตน์ ปทุมชาติ 2550)
ค่าแสดงการเปรียบเทียบไอออน( ions) ในเลือดกุ้ง ที่อยู่ในความเค็ม 30 พีพีที
แร่ธาตุ กุ้งขาว(มิลลิกรัมต่อลิตร) กับ กุ้งกุลาดำ (มิลลิกรัมต่อลิตร)
Na -โซเดียม 7,500 กับ8,000
Cl - คลอไรด์ 10,500 กับ 10,000
Ca - แคลเซียม 550 กับ 600
Mg - แมกนีเซียม 1,000 กับ 500    
K - โปตัสเซียม 390 กับ 400
P - ฟอสฟอรัส 400 กับ 15
S - กำมะถัน หรือ ซัลเฟอร์ nd กับ 500
Mn - แมงกานีส 0.2 กับ 5
Cu - ทองแดง หรือ คอปเปอร์ 270 กับ 190
แร่ธาตุที่ต้องการมาก (Macro Mineral) 

แคลเซียม (Calcium ) = Ca แคลเซียมมีความสำคัญต่อการสร้างเปลือก, ความสมดุลกรดด่างภายในร่างกาย ความต่างศักย์ของเมมเบรน(เนื้อเยื่อ) การแข็งตัวของเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อ และการดูดซับวิตามิน บี12
กุ้ง สามารถดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดจากน้ำ เช่น แคลเซียม อาจจะพบการดูดซึมทั้งหมดหรือบางส่วนจากน้ำ (Desshimaru et al., 1978) จึงไม่จำเป็นต้องเสริมแคลเซียมในอาหารเลี้ยงกุ้งขาว P. vannamei (Davis et al., 1993)
ฟอสฟอรัส (Phosphorus) = P
ฟอสฟอรัสมีความสำคัญต่อการสร้างเปลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเริ่มต้น สมดุลกรดด่างภายในร่างกาย ความต่างศักย์ของเมมเบรน ขบวนการเมตาโบลิซึม กุ้งสามารถดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดจากน้ำ เนื่องจากในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำ (Boyd, 1981) การดูดซึมฟอสฟอรัสของสัตว์น้ำจากน้ำจืดหรือน้ำเค็มโดยทั่วไปยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้นฟอสฟอรัสในอาหารสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญ การที่กุ้งต้องการสูงมีผลมาจากเนื่องจากกุ้งมีความจำเป็นต้องใช้ฟอสฟอรัสในการสร้างเปลือกตลอดวงจรการลอกคราบ
นอกจากนี้ความต้องการของฟอสฟอรัสในกุ้งยังขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมอีกด้วย สัดส่วนที่เหมาะสมในการแนะนำคือ 1 ต่อ 1
โซเดียม(Na) โปตัสเซียม(K) และคลอไรด์(Cl) (Sodium. Potassium and Chloride)

โซเดียม,โปตัสเซียม และคลอไรด์ นับว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อกระบวนทางสรีรวิทยาในแง่ของการช่วยปรับระบบสมดุลเกลือแร่ภายในร่างกาย(osmoregulation)ของกุ้ง นับว่าเป็นแร่ธาตุกลุ่มที่มีความเข้มข้นสูงมากชนิดหนึ่งในระบบเลือดกุ้ง
โซเดียมและโปตัสเซียม ในเลือดจะมีค่าต่ำกว่าน้ำภายนอกเล็กน้อย ทำหน้าที่รักษาสมดุลแรงดันออสโมติก (osmotic balance) ควบคู่ไปกับคลอไรด์ โดยมี โปแตสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมเป็นตัวช่วยปรับอีกทีหนึ่ง โซเดียมและโปตัสเซียมข่วยรักษาสภาพความเป็นกรด-ด่างในร่างกายให้สมดุล และทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท
คลอไรด์ กุ้งสามารถสะสมได้มากกว่าโซเดียมและโปรแตสเซียม จะมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับโซเดียม เป็นธาตุที่มีการเคลื่อนย้ายรวดเร็ว เมื่อน้ำภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงไปคลอไรด์จะรักษาความดันออสโมติก คลอไรด์มีส่วนกระตุ้นน้ำย่อยให้ทำงานดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไมเลส(amylase) และรักษาความเป็นกรด-ด่างของน้ำย่อยและเป็นส่วนประกอบในน้ำย่อยด้วย
ปริมาณของคลอไรด์ในเลือดกุ้งทะเลจะเท่ากับในน้ำทะเลหรือใกล้เคียงกัน

แมกนีเซียม (Magnesium)
แมกนีเซียม มีความสำคัญต่อกุ้งทะเลในแง่เป็นตัวที่ช่วยปรับสมดุลเกลือแร่ภายในร่างกาย ความต่างศักย์ของเนื้อเยื่อ การสร้างเปลือก และการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เป็นแร่ธาตุที่พบปริมาณสูงในน้ำทะเล (1,350 mg/l)

แร่ธาตุรอง (Micro Mineral)
ทองแดง (Copper)

เนื่องจากทองแดงมีปริมาณต่ำมากในน้ำทะเล จึงทำให้กุ้งได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อขบวนการทางสรีระเคมี เพื่อก่อให้เกิดการเจริญเติบโตสูงสุด การสร้างเนื้อเยื่อจากการสะสมแร่ธาตุ อีกทั้งกุ้งต้องใช้ทองแดงเพื่อเป็นองค์ประกอบของเลือด เพื่อลำเลียงออกซิเจน การเจริญเติบโตของกุ้งขาวแวนนาไมจะลดลงหากมีปริมาณทองแดงต่ำกว่า 34 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร จึงควรมีทองแดงในอาหารกุ้งประมาณ 34-53 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

เหล็ก (Iron)
ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อกุ้งเช่นกัน อาการขาดในกุ้งไม่ค่อยพบมากนักในกุ้ง หากมีมากเกินไปจะมีผลเสียทำให้การเจริญเติบโตลดลง
ไอโอดีนและแมงกานีส (Iodine and Manganese)
โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยได้ทำการประเมินถึงความจำเป็นของไอโอดีนต่อสรีรวิทยาของกุ้ง การเสริมปริมาณไอโอดีน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในอาหารจึงน่าที่จะเพียงพอที่ไม่ทำให้กุ้งมีอาหารขาด ขณะที่ปริมาณแมงกานีสในน้ำทะเลมีค่าต่ำมาก (0.01 mg/l) อีกทั้งขบวนการนำแมงกานีสไปใช้ประโยชน์ในร่างกายยังถูกยับยั้งด้วยphytic acid การเสริมในอาหารจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา อาการขาดแมงกานีสจะทำให้โตช้า การพัฒนาของเปลือกผิดปกติ ลูกวัยอ่อนตายสูง และอัตราการฟักจะต่ำ ควรเสริมแมงกานีสในอาหารประมาณ 4-20 มิลลิลิตร/กก
ซิลีเนียม (Selenium)
ซิลีเนียมเป็นธาตุที่ช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของ peroxidase อาการขาดซิลีเนียมคือทำให้การพัฒนาของเปลือกผิดปกติ พบว่ากุ้งขาว juvenile P. vannamei จะโตดีที่สุดหากมีการเสริมซิลีเนียมลงไป 0.2-0.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร อย่างไรก็ดีในอาหารสำเร็จรูปจะพบว่ามีปริมาณเพียงพอหากใช้ปลาป่นเป็นส่วนประกอบมากกว่า 15% และควรระวังที่ต้องเสริมซิลีเนียมเกินมากๆเนื่องจากมีแนวโน้มเป็นพิษ

สังกะสี (Zinc)
สังกะสีเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิด เช่น alkaline phosphatase เพื่อทำให้ขบวนการสร้างเนื้อเยื่อเป็นไปได้อย่างปกติในกุ้งขาว P. vannamei จึงควรมีสังกะสี 33 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในอาหาร
ด้วยเหตุที่เรามีการเลี้ยงกุ้งทะเลแบบปล่อยแน่นมากในบ่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนธรรมชาติพอสมควร จึงเกิดศาสตร์และศิลป์มากมายเพื่อให้การเลี้ยงยังคงอยู่ได้ไม่น้อยไปกว่าการเลี้ยงในสภาวะปกติ
การเพิ่มแร่ธาตุลงในน้ำ อาจจะทำได้บางชนิด แต่มีโอกาสสูญเสียและต้องใช้ในปริมาณมาก อาจไม่คุ้มหรืออาจจะอยู่ในรูปที่กุ้งมีประสิทธิภาพต่ำในการนำไปใช้
แร่ธาตุบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัส และ (Cu)ทองแดง ที่ละลายอยู่ในน้ำบ่อกุ้งมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ด้วยการดูดซึมจากน้ำโดยตรง ดังนั้นเราต้องเสริม ฟอสฟอรัส และ ทองแดง ลงในอาหารจึงน่าที่จะแก้ปัญหาได้ อีกทั้งทองแดง มีอยู่ในน้ำในปริมาณที่ต่ำมากจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อกุ้งในสภาพเลี้ยงที่หนาแน่นและความเค็มน้ำต่ำ เนื่องจากทราบกันดีแล้วว่า Cu หรือทองแดง เป็นองค์ประกอบของฮีโมไซยานินhaemocyanin ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนO2 และที่สภาวะดังกล่าวกุ้งต้องมีการใช้พลังงานมาก การใช้ออกซิเจน ก็ย่อมมากตามไปด้วย การนำออกซิเจนมาใช้ได้มากจึงขึ้นอยู่กับ Cuหรือ ทองแดงเป็นปัจจัยสำคัญ(กุ้งขาวเป็นกุ้งที่ต้องการออกซิเจนสูงกว่ากุ้งกุลาดำ)
แร่ธาตุบางชนิด เช่น แมงกานีส (Mn) ละลายอยู่ในน้ำต่ำมาก กุ้งได้รับไม่เพียงพอจากการดูดซึมจากน้ำโดยตรง การเสริม แมงกานีส(Mn )ลงในอาหารจึงน่าที่จะแก้ปัญหาได้

คำแนะนำสำหรับเกษตรกรไทย(เอกอนันต์ ยุวเบญจพล)
" หากต้องการเพิ่ม แมกนีเซียม ในน้ำ แนะนำให้ใช้ แมกนีเซียมคลอไรด์ จะได้ประโยชน์มากกว่า แมกนีเซียมซัลเฟต(ดีเกลือ)
" หากต้องการเพิ่ม แคลเซียม ในน้ำ สามารถเลือกใช้ปูนขาว(แคลเซียมคาร์บอเนต)ได้ หรือ แคลเซียมซัลเฟต(ยิบซั่ม)
" การใส่แร่ธาตุในน้ำ ที่ถูกต้องคือ ต้องค่อยๆใส่ อย่าเน้นใส่ในปริมาณมากในครั้งเดียว เนื่องจากกุ้งเองก็ต้องปรับตัว ถ้าใส่มากๆกุ้งก็จะเสียสมดุลเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้คือ การใส่แร่ธาตุแมกนีเซียมในบ่อกุ้งของเกษตรกรต้องทยอยใส่ อย่าใส่เพียงแค่วันพระหรือวันโกนในปริมาณมากครั้งเดียวจบเป็นต้น
" กุ้งขาวในบ่อหากเราสามารถรักษาระดับพีเอชของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากในรอบวัน กุ้งขาวก็จะไม่เครียด เพราะร่างกายกุ้งไม่ต้องพยายามในการปรับค่าพีเอชของเลือดในตัวนั่นเอง การเลี้ยงกุ้งก็จะง่ายขึ้น
" สำหรับเรื่องของ ทองแดง หรือ คอปเปอร์(copper) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นมากสำหรับเลือดกุ้ง แต่อันนี้เป็นหน้าที่ของบริษัทอาหารสัตว์ที่ขอแนะให้ทางฝ่ายสูตรได้ใส่ไปในอาหารกุ้งขาวด้วย.
" ส่วนฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ผสมในอาหารจะเหมาะสมกว่า เพราะกุ้งขาวมีข้อจำกัดในการดูดซึมมาจากน้ำ
-หากเกษตรกรพบว่ากุ้งมีอาการเป็นตะคริวง่าย สามารถลดปัญหาโดยใส่ โปตัสเซียมเพิ่มในน้ำ ซึ่งขอแนะให้ใส่ปุ๋ย สูตร 0-0-50
ในปริมาณน้อยๆไม่ต้องมาก เช่น ใส่ 2-5 กิโลกรัมต่อไร่ ในวันที่พบกุ้งมีอาการ และ ให้สังเกตวันถัดไปว่ายังมีกุ้งที่มีอาการเป็นตะคริวอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ใส่อีก สามารถเติมได้ทุกวันเพราะเราใส่ไม่มาก เกษตรกรควรหยุดใส่เมื่อพบว่ากุ้งในบ่อเป็นปกติแล้ว (มีข้อมูลงานทดลองจากต่างประเทศ (WASที่เท็กซัส)สรุปว่าการให้โปตัสเซียมผสมในอาหารกับกุ้ง ได้ผลน้อยกว่าการใส่ลงในน้ำโดยตรง)
-โปแตสเซียมกุ้งจะรักษาระดับโปแตสเซี่ยมให้เท่ากับปริมาณของโปแตสเซี่ยมที่ละลายอยู่ในน้ำทะเล
-แคลเซียม จะถูกสะสมไว้ตามเนื้อเยื่อและเปลือกส่วนที่เกินความต้องการจะถูกขับถ่ายออกมา
-โซเดียม โปแตสเซียม และ คลอไรด์ จะถูกควบคุมโดยเหงือก แร่ธาตุเหล่านี้จะช่วยให้กุ้งขาวทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
-กุ้งจะใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนที่สมดุลกับแคลเซียม คือ อัตราส่วน แมกนีเซียม 3 ส่วน ต่อแคลเซียม 1 ส่วน
อย่าแปลกใจที่การเลี้ยงกุ้งปัจจุบัน ดูเหมือนจะเลี้ยงยากขึ้นทุกทีๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากแร่ธาตุต่างๆที่เราละเลยและมีไม่เพียงพอกับความต้องการของกุ้งที่ปล่อยลงบ่อเลี้ยง หากเกษตรกรปรับตัวทันรู้จักเพิ่ม-เติมแร่ธาตุต่างๆในส่วนที่เหมาะสม ปล่อยกุ้งไม่หนาแน่นเกินศักยภาพของบ่อผลการเลี้ยงกุ้งก็มีจะปัญหาน้อยลง และมีคำถามทิ้งไว้หน่อยว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะปล่อยกุ้งในอัตราที่พอเหมาะกับพื้นที่ของตัวเอง

นำเสนอขึ้นสู่เวบไซต์ โดย www.shrimpcenter.com
เอกอนันต์ ยุวเบญจพล webmaster

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น