วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

การดูแลคุณภาพน้ำ


การดูแลคุณภาพน้ำสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเราเลี้ยงกุ้งหนาแน่นกว่ากุ้งกุลาดำในอดีต ต้องให้อาหารปริมาณมาก สิ่งขับถ่ายของกุ้งมาก ต้องใช้ออกซิเจนและแร่ธาตุในขบวนการย่อยสลายมาก ดังนั้น หากผิดพลาดเรื่องการดูแลคุณภาพน้ำก็จะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งได้ ตั้งแต่ระดับต่ำสุด คือ กุ้งเครียด โตช้า ต้นทุนสูงกว่าที่ควร ไปจนถึงกุ้งอ่อนแอ เสียหาย หรือที่เรียกว่ากุ้งน๊อค จนต้องจับก่อนกำหนดจึงต้องจับก่อนกำหนด จึงขอเสนอในแนวที่เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
การดูแลคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งขาว มีหลักการสำคัญ 2 ส่วน คือ
1 ดูแลให้คุณสมบัติน้ำเหมาะสมต่อกุ้งขาวที่เลี้ยง ซึ่งมีส่วนสำคัญ คือ 
1.1 มีแพลงค์ตอนพืชชนิดที่ดี ปกติ คือ น้ำเขียว และไม่มีแพลงด์ตอนชนิดเซล
ใหญ่ หรือมีระยางค์ที่อุดเหงือกหรือติดซี่เหงือกหรือให้สารกลิ่นโคลน เช่น ออสซิลาทอเรีย ,ไมโครซิสทิส , ลิงเบียซึ่งพบมากในบ่อความเค็มต่ำ หรือหากน้ำเค็มระดับหนึ่งอาจพบแพลงด์ตอนกลุ่มสีน้ำตาลหรือแดงที่มีระยางด์ เช่น นิชเชีย , ไดโนแฟลคเจลเลท (ซึ่งปีนี้จะเสี่ยงมากในแหล่งเลี้ยงชายฝั่ง) เพราะหากแพลงด์ตอนนี้บลูมในแหล่งน้ำ และเข้าระบบฟาร์มจะทำให้กุ้งเสียหายในวงกว้างได้
1.2 มีองค์ประกอบแร่ธาตุในน้ำที่เหมาะสม ซึ่งปกติในน้ำทะเลมีองค์ประกอบแร่ธาตุที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ความเป็นจริงในบ่อกุ้งน้ำทะเลถูกเจือจางด้วยน้ำจืดที่มีองค์ประกอบแร่ธาตุต่างกันและมีแร่ธาตุน้อยกว่า จึงทำให้แร่ธาตุในน้ำแต่ละบ่อต่างกันและน้อยกว่าเกณฑ์ไปด้วย โดยเฉพาะเขตน้ำจืดหรือปลายแนวคลองที่ความเค็มน้ำต่ำกว่า 15 พี.พี.ที.
เพื่อให้คุณภาพน้ำในบ่อดี มีแร่ธาตุที่พอให้กุ้งอยู่ได้อย่างสุขสบาย เราจึงมีการเติมแร่ธาตุในบ่อเลี้ยงตั้งแต่ช่วงเตรียมบ่อ เช่น โคโลไมต์ แม็คนิเซียมออกไซด์ หรือ ซัลเฟต หรือ แร่ธาตุรวมที่มีจำหน่ายทั่วไป ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละบ่อหรือแต่ละเขตเลี้ยง ส่วนในระหว่างการเลี้ยงก็จะเน้นที่การตรวจวัดแร่ธาตุในน้ำ อย่างน้อย 2 ตัว คือ แคลเซียม และ แม็กนีเซียมเพื่อปรับให้อยู่ในระดับที่กุ้งอยู่ได้เป็นปกติ เช่น เปลือกแข็งพอ เนื้อไม่ขุ่นและไม่ช๊อคง่าย หรือ ตัวหงิกงอผิดปกติ ค่าความกระด้าง ควรได้ 2,000 แคลเซียมต่ำสุด 120 แม็คนีเซียมต่ำสุดควรได้ 400 และอัตราส่วนควรอยู่ระหว่าง 1 : 2 ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1.4 ตามความเค็มน้ำ)
1.3 ความโปร่งของน้ำที่พอเหมาะ ซึ่งในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวต้องให้ความสำคัญกับความโปร่งของน้ำด้วย เพราะกุ้งขาวมีซี่เหงือกเล็กกว่ากุ้งกุลาดำ หากมีแพลงก์ตอนเซลใหญ่ หรือ มีระยางค์ หรือหากมีตะกอนในน้ำมากเกินไป หรือ มีแพลงด์ตอนตายพร้อมกันมาก ๆ จนซากจับตะกอนกระจายในน้ำ หรือมีสารเมือกจากแพลงด์ตอนทำให้น้ำหนืดกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนติด หรือ เคลือบซี่เหงือกกุ้ง จนทำให้ซี่เหงือกทำหน้าที่ถ่ายเทแอมโมเนียและคาร์บอนไดออกไซด์ออก และนำออกซิเจนเข้าสู่ตัวกุ้งได้ยากยิ่งขึ้น เราจึงต้องรักษาคุณภาพน้ำให้โปร่งพอที่กุ้งอยู่ได้อย่างสุขสบาย และหากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข 
โดยทำควบคู่กับการเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้คงระดับสูงกว่าปกติ เพื่อให้กุ้งคงอยู่ในบ่ออย่างเป็นปกติจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อย
1.4 มีระดับความเป็นกรดด่างที่พอเหมาะและไม่เสี่ยง โดยทั่วไปทราบกันดีแล้วว่า ควรมีระดับ พี.เอช. ในรอบวันที่ระหว่าง 7.5 - 8.5 เพื่อให้อยู่ในระดับที่กุ้งอยู่ได้และเสี่ยงภาวะพิษจากสารที่อาจก่อโทษในกุ้ง 2 อย่าง คือ ก๊าซไข่เน่า (H+2S) และ แอมโมเนีย (NH3) ซึ่งก๊าซไข่เน่าจะยิ่งเป็นพิษมากถ้า พี.เอช . ต่ำกว่า 7.5 และ แอมโมเนียยิ่งเป็นพิษมาก ถ้า พี.เอช. สูงกว่า 8.5 แต่ที่จริงถ้าให้เหมาะควรให้น้ำในบ่อกุ้งมี พี.เอช ระหว่าง 7.7 - 8.2 จะยิ่งช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อภาวะพิษจาก ก๊าซไข่เน่าและแอมโมเนียได้ดีที่สุด
ดังนั้น ระหว่างการเลี้ยงกุ้งขาว ควรรักษาระดับ พี.เอช. ให้พอเหมาะอยู่เสมอ โดยการคุมอาหารไม่ให้พลาดและให้มีออกซิเจนในน้ำสูงพอสำหรับกุ้ง และให้มีจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจนช่วยย่อยสลายที่พื้นบ่อ และเฝ้าระวังไม่ให้ พี.เอช. แกว่งสูงและต่ำเกินไป หากเกิดขึ้นควรเตรียมการและแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยก่อนที่กุ้งต้องเครียดจนชะงักหรือเสียหาย โดยการลดอาหาร เพิ่มการตีน้ำ ถ่ายน้ำบางส่วน (ถ้ามีและถ่ายได้) หรือใช้สารกลุ่มกรด หรือด่างเข้าช่วยเล็กน้อยเมื่อจำเป็น
2 มีออกซิเจนในน้ำที่ระดับเพียงพอต่อการใช้ของกุ้ง
โดยปกติ ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ออกซิเจนสำหรับเลี้ยงกุ้งขาวควรจะไม่ต่ำกว่า 4.5 โดยการตีน้ำให้ฟุ้งหรือพ่นอากาศลงในน้ำ (โดยเฉพาะในตอนกลางคืนหรือช่วงกลางวันที่ฟ้าปิดไม่มีแสงแดด) ควบคู่การจัดการในการสะสมออกซิเจนที่แพลงด์ตอนผลิตขึ้นในตอนกลาง
การรักษาระดับออกซิเจนให้สูงกว่า 4.5 ทำได้โดย
2.1 การใช้อุปกรณ์ตีน้ำรวมกับแพลงด์ตอน
ตอนกลางวัน - หากมีแสงแดด แพลงด์ตอนจะผลิตออกซิเจนละลายในน้ำจนสูงมาก เราเพียงช่วยเคล้าน้ำเบา ๆ เพื่อให้มีระดับออกซิเจนในน้ำสูงไว้ จนถึงพลบค่ำ
- หากไม่มีแสงแดด (ฟ้าปิด) ก็ตีน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนในน้ำสูงพอ
ตอนกลางคืน - ตีน้ำเต็มที่ เพื่อยันระดับออกซิเจนไม่ให้ต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ควรวัดออกซิเจนในน้ำ ประกอบการเปิดอุปกรณ์ตีน้ำ เพิ่มออกซิเจน
2.2 การดูแลสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการตีน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากให้อาหารเกิน หรือกุ้งแน่นต้องให้อาหารมาก จะเกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ส่วนเกินมากกว่าปกติ ทำให้น้ำเข้มเร็วและเข้มจัด ตอนกลางคืนจะเกิดการแย่งใช้ออกซิเจน ทั้ง จุลินทรีย์ แพลงด์ตอน และกุ้งในบ่อ (กุ้งใช้น้อยกว่าจุลินทรีย์และแพลงด์ตอนด้วยซ้ำ) ดังนั้น ถ้าคุมอาหารได้ดี จะทำให้ตัวใช้ออกซิเจนทั้งจุลินทรีย์และแพลงด์ตอนไม่มากเกินไป ก็สามารถประหยัดการใช้อุปกรณ์ตีน้ำ
ได้ระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ควรเตรียมอุปกรณ์สำรองให้เกินการใช้ไว้ทุกบ่อ เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉินหรืออุปกรณ์บางส่วนเสียหาย




หมายเหตุ ข้อมูลประกอบ
1 ฤดูร้อน น้ำร้อน จุลินทรีย์จะบลูมเร็วมาก หากอาหารเกิน หรือแพลงด์ตอนดรอป จะทำให้เกิดการหมักและขาดออกซิเจนเร็วมาก จึงควรติดตามดูแลเป็นพิเศษ จากการทดลอง พบว่า หากจุลินทรีย์บลูมมาก ๆ ออกซิเจนในน้ำจะลดลงหรือไม่เพิ่มมากแม้จะเป็นช่วงกลางวันซึ่งจะมีผลให้ขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงในคืนแรก ๆ ที่เริ่มมีปัญหาน้ำหมัก
2 กรณีแพลงด์ตอนดรอป และมีสภาพน้ำหนืด ต้องตีน้ำเพิ่มกว่าวันปกติอีกระดับหนึ่ง (วัดออกซิเจนประกอบ)
3 ควรจัดตั้งอุปกรณ์ โดยคำนึงถึง
- น้ำหมุนเวียนในเขตเลี้ยงไม่เชี่ยวเกินไป เพื่อลดภาระหนักในการว่ายทวนน้ำของกุ้ง และป้องกันตะกอนอาหารเข้าเขตเลนเร็วเกินไป
(กุ้งกินซ้ำไม่ทันหรือกุ้งตามไปกินตะกอนในเขตชายเลนที่ออกซิเจนต่ำ
กว่าปกติ)
- ให้น้ำเขตเลนเคล้าทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดสภาพขาดออกซิเจนบริเวณหน้าเลน จะป้องกันการย่อยสลายแบบไม่ใช่ออกซิเจนซึ่งจะให้ก๊าซที่เป็นพิษต่อกุ้งได้ (ช่วยให้กุ้งที่เข้าเขตเลนมีออกซิเจนใช้อย่างพอเพียงด้วย)
4 มีข้อมูลสรุปชัดเจนว่า การจัดการเลี้ยงดี ตรวจวัดออกซิเจนและปรับ
ใช้อุปกรณ์ตีน้ำอย่างเหมาะสม จะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ดีกว่ารายที่ตีน้ำต่อเนื่อง แบบเก่าประมาณ 
20 - 40 % (เฉลี่ย 30 %)
5 เพื่อความไม่ประมาท ควรมีสารเพิ่มออกซิเจนติดฟาร์มไว้เสมอตลอดช่วงที่มีการเลี้ยงกุ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาออกซิเจนตกอย่างไม่คาดคิด (ถ้าไม่ต้องใช้ถือว่าดี และไม่ต้องเปลืองเงิน)
6 หากมีอุปกรณ์และความพร้อมจำกัด ควรปรับการเลี้ยงโดยเลี้ยงกุ้งเฉพาะกลางวัน ( 3 มื้อ) และตีน้ำรักษาระดับออกซิเจนให้กุ้งอยู่ได้ตลอดกลางคืน ซึ่งจะลดความเสี่ยง
ได้มาก และตอนกลางคืนกุ้งยังช่วยเก็บเศษเพื่อบำบัดพื้นบ่อให้อีกทางหนึ่งด้วย
     ที่มา http://www.shrimpcenter.com/shrimp00153.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น